เกี่ยวกับเรา

ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกในยุค ปัจจุบัน  มีการเชื่อมร้อยโลกให้เป็นหนึ่งเดียวตามอุดมการณ์ทุนนิยมโลก มีกระบวนการครอบงำเศรษฐกิจของสังคมผ่านทางกลไกของรัฐชาติภายใต้วาทกรรมของคำว่า “พัฒนา”   ในฐานะที่เป็นวิถีทางอันหนึ่งที่รัฐใช้ในการดึงหมู่บ้านต่างๆรวมทั้ง ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ให้เข้ามาอยู่ในระบบการเมืองระดับชาติ เพื่อเอื้อต่อการแทรกซึมของวิถีการผลิตแบบทุนนิยมและเพื่อสืบทอดลักษณะทาง สังคมที่ดำรงอยู่ของความสัมพันธ์ทางการผลิต  >ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ต้องมีวิถีชีวิตที่สลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ดังนั้นในการเผชิญหน้ากับสิ่งใหม่ ๆ เหล่านี้ ชุมชนจะต้องมีศักยภาพและมีความสามารถในการจำแนกแยกแยะ ต้องรู้เท่าทันความเป็นไปของโลกภายนอก ระบบความรู้จึงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญมากที่จะทำให้ชุมชนมีพลังแข็งแกร่ง สามารถเผชิญปัญหาอุปสรรคได้

ความรู้ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆเป็นความรู้ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อรับใช้ การสร้างความอยู่รอด เป็นหลักประกันความมั่นคงให้กับชีวิตคนที่อยู่ในบริบทสิ่งแวดล้อมนั้นๆและ พัฒนาระบบความรู้ขึ้นมาใช้เพื่อตอบสนองความความจำเป็นในการยังชีพ ไม่ว่าจะเป็นการทำมาหากิน การดูแลสุขภาพ การจัดหาปัจจัยสี่ต่าง ๆ  ที่สำคัญคือเป็นการจัดความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน และระหว่างคนกับธรรมชาติ เพื่อการดำรงอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตามระบบความรู้ของกลุ่มชาติพันธุ์ได้ถูกละลายมองข้ามหรือไม่ถูกนับ ว่าเป็น “ความรู้” ที่มีค่า ชุดความรู้ของกลุ่มชาติพันธุ์ที่เกิดจากประสบการณ์จริงในชีวิตจริงในท้อง ถิ่น แทบจะไม่มีที่ยืนอยู่ในสาระบบความรู้ที่ควรได้รับการถ่ายทอดในช่วงเวลานับ ตั้งแต่การพัฒนาระบบการศึกษาตามแบบตะวันตก

ทางคณะกรรมการมูลนิธิภูมิปัญญาชาติพันธุ์ได้เล็งเห็นความสำคัญและความจำ เป็นในการดำเนินงานเพื่อพัฒนา การผลิต การใช้ การสืบทอดต่อยอดและยกระดับระบบคุณค่าความรู้ภูมิปัญญาของกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อเป็นฐานความรู้ในการสังคม และให้สามารถทำหน้าที่ในการรับใช้สังคมชาติพันธุ์ ตลอดจนให้กลุ่มชาติพันธุ์ได้มีที่ยืนอยู่บนพื้นที่ทางสังคมได้อย่างภาคภูมิ ใจและยอมรับในความเป็นคนชาติพันธุ์อย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี อยู่ร่วมในสังคมได้อย่างสันติบนความเป็นเอกภาพที่หลากหลาย

วัตถุประสงค์ของมูลนิธิ

  • เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการสืบทอดและการรื้อฟื้นองค์ความรู้ภูมิปัญญา วัฒนธรรมที่ดีงาม และมีคุณค่าของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ
  • เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้กลุ่มชาติพันธุ์ได้ปรับใช้บูรณการองค์ความรู้ภูมิปัญญา และวัฒนธรรมแบบองค์รวม
  • เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้โอกาสกลุ่มชาติพันธุ์ที่ได้มีโอกาสเรียนรู้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต จากองค์ความรู้ภูมิปัญญาวัฒนธรรมตนเองผสมกับภูมิปัญญาสากล
  • เพื่อส่งเสริมและให้การช่วยเหลือด้านสังคมสงเคราะห์แก่เด็ก เยาวชน สตรี กลุ่มเปราะบาง และผู้ด้อยโอกาสในสังคมตามหลักมนุษยธรรม
  • ดำเนินการเพื่อสาธารณะประโยชน์หรือร่วมมือกับองค์การการกุศลอื่นๆ เพื่อสาธารณะประโยชน์
  • ไม่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการเมืองแต่ประการใด 

รายชื่อคณะกรรมการมูลนิธิภูมิปัญญาชาติพันธุ์

  • นายไวยิ่ง            ทองบือ                          ประธานกรรมการ
  • นายพะปี             รักษ์ดำรงพร                   รองประธานกรรมการ
  • นางสุภาพร         โพธิ์แก้ว                         กรรมการ
  • นายธีระ              วนาสันต์ไพรเขียว            กรรมการ
  • นางวันดี             ชื่นชู ไพร                        กรรมการ
  • นางสาวเสาะยู     หยกภู                            กรรมการและเหรัญญิก
  • นายสิงขร           รักสกุลใหม่                     กรรมการและเลขานุการ